ประกาศ

FLYING WITCH
LC BY Vibulkij เมื่อวันที่ 30/4/2020
จึงขอนำลิ้งก์ดาวโหลดและแบบอ่านออกนะครับ อย่าลืมอุดหนุนของแท้กันนะ

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

เรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างไรให้ได้ N2 ในเวลา 2 ปี 5 เดือน

อัพเดทเมื่อ 24/01/62       
บทความนี้เป็นเวอร์ชั่นปรับปรุงซึ่งมีเขียนแก้ไขและเพิ่มในส่วน N2 จากบทความเก่า เรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างไรให้ได้ N3 ในเวลา 1 ปี 5 เดือน ถ้าใครเคยอ่านแล้วขอให้ลองอ่านใหม่ดูอีกรอบนะครับ

           สวัสดีครับ หลังจากที่อ่านบทความเกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นของคนอื่นมาก็มาก ในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสเขียนบทความเป็นของตนเองสักที 

           เอาล่ะ!! ก่อนอื่นขอเริ่มจากสาเหตุที่ผมเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนละกัน ขอบอกเลยนะว่าตอนนั้นเป็นช่วง ม.6 แล้วผมยังหาตนเองไม่เจอเลย ไม่รู้ว่าจบไปจะเรียนอะไรต่อ เรียนที่ไหน ตนเองอยากทำอะไรก็ไม่รู้ แต่ตอนนั้นผมมีงานอดิเรกคือการดูอนิเมะของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ดูเป็นซับไทย พากษ์ญี่ปุ่น แต่ก็แค่การดูเพราะชอบ สนุก ไม่ได้คิดอยากเรียนรู้ภาษาแบบจริงจังเลยบวกกับตอน ม.ปลาย ผมก็เลือกเรียนศิลป์จีนไปแล้ว (ยิ่งทำให้รู้ว่าการเรียนภาษานั้นยากแค่ไหน) จนทำให้คิดว่าถ้าตอนนั้นเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกยังไงก็ไม่ไหว เนื่องจากผมก็ไม่ใช่คนเก่ง ขยันอะไร

           สุดท้ายเมื่อใกล้จะจบ ม.6 ผมก็ต้องตัดสินใจเลือกมหาลัยเรียนต่อ ด้วยความที่ชอบในภาษาญี่ปุ่นและดูอนิเมะมาตลอด (ประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ช่วง ม.4 เทอม 2 ) ทำให้ผมพอมีความรู้เรื่องคำศัพท์อยู่บ้าง จึงตัดสินใจว่า


 ''เอาภาษาญี่ปุ่นนี่ล่ะวะ ลองดูสักตั้ง ถ้าไม่ไหวก็ลองหาอย่างอื่นดู''

         การตัดสินใจเริ่มทำก็เป็นก้าวแรกเหมือนกันนะครับ จากนั้นผมก็เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นว่า เรียนแล้วทำอะไรได้บ้าง จบไปจะทำงานอะไร เงินเดือนเป็นยังไง เมื่ออ่านดูแล้วทุกอย่างก็โอเคผมจึงตัดสินใจเริ่มเรียน

ประวัติการเรียนภาษาญี่ปุ่นของผม

  •  ตั้งแต่เริ่มเรียนใช้เวลา 9 เดือนในการสอบ N4 ครั้งแรก (รอบ 2/2013) ผล ผ่าน
  •  ตั้งแต่เริ่มเรียนใช้เวลา 1 ปี 5 เดือน สอบ N3 ครั้งแรก  (รอบ 1/2014) ผล ผ่าน
  •  ตั้งแต่เริ่มเรียนใช้เวลา 2 ปี 5 เดือน สอบ N2 ครั้งแรก  (รอบ 1/2015) ผล ผ่าน
  •  ปัจจุบันวางแพลนที่จะสอบ N1 แต่คิดว่ายังอีก 1-2 ปีเป็นอย่างต่ำ
  •  ไม่เคยเรียนพิเศษกับสถานบันใดๆ ทั้งสิ้น
  •  ไม่เคยไปญี่ปุ่นแม้แต่ครั้งเดียวจนถึงตอนสอบ N3 ผ่าน
  •  ไม่มีญาติเป็นคนญี่ปุ่น


เริ่มเรียน!!
           ผมเริ่มจากการคัดตัวอักษร ฮิรางานะ - คาตาคานะให้คล่อง (ใช้เวลาประมาณ 10 วัน) ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนสอบปลายภาคของ ม.6 แค่ 2 อาทิตย์ (จำแม่นเลย เพราะผมเอาตัวอักษรไปนั่งคัดในระหว่างที่เรียน อย่าทำตามนะครับ ฮ่าๆ) หลังจากนั้นเมื่อจบ ม.6 ก็จะมีช่วงปิดเทอมใหญ่รอมหาลัยเปิด ด้วยความกลัวว่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน เพราะหลายๆ คนก็ได้เรียนกันมาตอน ม.ปลาย แล้ว ผมจึงอ่านหนังสือ Minna no nihongo จบไป 2 เล่ม (แน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่มีคนอธิบายตรงที่งง คำชงคำช่วยอะไรเนี่ยแทบไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ) หลังจากนั้นก็ถึงเวลาเปิดเทอม

เปิดเทอมสู่เอกญี่ปุ่น ปี1
           มหาลัยของผมเริ่มสอนจาก 0 โดยใช้หนังสือ Minna no nihongo เรียน (เล่มเดียวกับที่ผมอ่านก่อนเข้าเรียน) โดยจะเรียนเทอมละเล่ม!! แน่นอนว่าช้ามากสำหรับผมที่อ่านมาล่วงหน้าแล้วถึงจะไม่ค่อยเข้าใจก็เถอะ ดังนั้นการเรียนของผมจึงเป็นการเรียนแบบกึ่งเรียนด้วยตัวเอง เนื่องจากผมเรียนทั้งที่มหาลัยด้วยแล้วก็เรียนด้วยตัวเอง ซึ่งระหว่างเรียน ''ทุกคืน'' ผมก็มักจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในการอ่านภาษาญี่ปุ่น วันละ 2-3 บท จนจบมินนะทั้ง 4 เล่ม (ซึ่งตอนนั้นที่มหาลัยยังสอนถึงประมาณ เล่ม 2 อยู่เลย) 

        เมื่ออ่านจบผมก็มีความมั่นใจในระดับนึง (เพราะตอนสอบเพื่อนที่เรียนมาก่อนหลายคนกลับได้คะแนนน้อยกว่าผมที่เพิ่งมาเรียน) จึงได้ลองลงสอบวัดระดับ N4 ดูและผลก็ปรากฎว่าผ่านครับ!! 
        
          ตอนนั้นผมดีใจมากเลย เพราะถือว่าขั้นแรกสู่เป้าหมายที่ผมวางไว้สำเร็จแล้ว แถมยังได้แรงใจเพิ่มอีกด้วยว่าคนขี้เกียจอย่างผม ถ้าลองตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่ชอบอย่างเต็มที่ก็สำเร็จเหมือนกัน


สอบ N4 ผ่านอ่านอะไรบ้าง?
  •    หนังสือชุด Minna no nihongo 4 เล่ม
  •    หนังสือชุดเตรียมสอบวัดระดับ N4 เล่มคำศัพท์  // ไวยากรณ์ + การอ่าน


    เพียงแค่ 6 เล่มนี้ก็เพียงพอสำหรับการสอบ N4 แล้วครับ ถึงจะผ่านด้วยคะแนนไม่มากก็เถอะ




เป้าหมายและแรงบันดาลใจในการเรียนสำคัญอย่างไร?
          ไม่ว่าจะทำอะไรควรมีเป้าหมายที่แน่นอนครับ การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เช่นกัน ถ้าหากเรียนไปวันๆ โดยไม่คิดจะทบทวนหรืออ่านล่วงหน้า แค่เข้าไปเรียนในคาบเรียนให้จบๆ ไป มันไม่พอหรอกครับ ภาษาญี่ปุ่นมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

          ส่วนในกรณีของผมคือเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อดูอนิเมะ อ่านมังงะภาษาญี่ปุ่นให้รู้เรื่อง ซึ่งมันอาจจะเป็นเพียงเป้าหมายเล็กๆ แต่ถ้าคุณชอบมันจริงๆ มันก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจและสิ่งผลักดันในการเรียนได้อย่างดีเลยล่ะครับ


          แน่นอนว่าผมก็ตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้เป็นการสอบวัดระดับ N2 ให้ผ่านเพื่อนำไปใช้สมัครงานในอนาคตด้วยเหมือนกัน


เวลาที่ท้อกับการเรียน
           ถามว่าจนถึงตอนนี้ผมเคยท้อกับการเรียนรึเปล่า แน่นอนว่าทุกคนที่เรียนภาษาไม่เคยมีใครไม่ท้อครับ ผมกล้าพูดเลย ซึ่งผมก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แถมไม่ใช่แค่ครั้งเดียวด้วย อารมณ์ประมาณรู้สึกว่ามันยาก น่าเบื่อ ทำไมเราถึงไม่เข้าใจตรงนี้ รู้สึกเฟลๆ จนไม่อยากทำอะไร คิดว่าหยุดไว้ก่อน ปล่อยให้ตัวเราในอนาคตจัดการไปล่ะกัน ตอนนี้พอแค่นี้ก่อนล่ะกัน  

           ถ้าหากคุณรู้สึกอย่างนี้ก็ให้กลับไปหาแรงบันดาลใจในการเรียนของคุณซะ สิ่งที่ทำให้คุณเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นนั่นล่ะ เวลาผมท้อก็จะกลับไปดูอนิเมะ ฟังเพลง อ่านการ์ตูน พอผ่านไปสักพักความรู้สึกนั้นมันก็จะหายไปเองพร้อมกับใจสู้ที่กลับมา หรือถ้ามันยังไม่กลับก็หมกหมุ่นกับสิ่งที่ชอบให้มากขึ้น ตราบใดที่ยังชอบภาษาญี่ปุ่น (แรงบันดาลใจที่ทำให้เรียน) คุณก็ยังเรียนต่อไหว เชื่อผมสิ!!



วิธีการเรียน

         ก่อนอื่นคุณต้องได้พื้นฐานท่องฮิรางานะ-คาตาคานะ ให้คล่องและเข้าใจคำช่วยในระดับนึงก่อนครับ ส่วนไวยากรณ์ ให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป การผันรูปต่างๆ ก็สำคัญ ขอให้อ่านอย่างสม่ำเสมอ วันละนิดก็ได้ ห้ามขี้เกียจ ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะพวกแบบฝึกหัดหลังจากอ่านจบบท "ต้องทำ" เพื่อทดสอบสิ่งที่ตัวเองอ่านไปว่าเข้าใจจนถึงระดับที่สามารถ ''นำไปใช้'' ได้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็จดบันทึกไว้ เผื่อในบทต่อๆ ไปอาจจะเจออีก ภาษาญี่ปุ่นถ้าเราเจอรูปประโยคแบบเดียวกันบ่อยๆ มันก็จะเข้าใจเองโดยอัติโนมัติ อย่างน้อยก็วิธีใช้งาน มันจะคุ้นๆ ว่ารูปประโยคนี้ต้องใช้แบบนี้


คันจิ

         หลายๆ คนอาจจะคิดว่าคันจิเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่สำหรับผมมันง่ายที่สุดในภาษาญี่ปุ่นเลยครับ เพราะขอเพียงแค่ท่องจำก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว ต่างกับไวยากรณ์ตรงที่ต้องใช้ความเข้าใจ ดังนั้นมันอยู่ที่ความขยันล้วนๆ เลยครับ ขยันอ่านบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็เข้าหัวเองถึงมันจะมีเกือบ 3 พันตัว แต่ถ้าเราค่อยๆ เพิ่มมันไปทีละนิด ค่อยๆ เรียนรู้มันไป ถึงจะบอกว่ามีเกือบ 3 พัน แต่เอาที่ใช้จริงๆ ก็ประมาณ 2 พันตัวและถ้ารู้สัก 1 พันตัวก็อ่านบทความระดับปานกลางไปถึงค่อนข้างยากได้สบายแล้วครับ


วิธีการฝึกคันจิ

         ผมไม่เคยมานั่งคัดเลยครับ อาศัยจากการอ่านเจอบ่อยๆ ให้สมองมันจำได้เอง คำศัพท์ก็เช่นกัน ผมไม่เคยคิดว่าต้องจำให้ได้จากการเห็นครั้งแรก ดังนั้นคันจิกว่า 80% ที่ผมรู้บอกเลยว่าผมเขียนไม่ได้ แต่สามารถอ่าน+บอกความหมายมันได้ แต่ถ้าตั้งใจจะเอาคะแนนสอบพาร์ทคันจิในการสอบวัดระดับเยอะๆ ก็ควรเขียนให้ได้นะครับ เพราะมันมีข้อที่ให้คันจิที่คล้ายๆ กันมาให้เลือกอยู่ 

         การฝึกคันจิของผม ผมฝึกจากเพลงเปิด-ปิดของอนิเมะครับ ก็อย่างที่บอกอาศัยการเห็นบ่อยๆ เพราะอนิเมะมันก็มีเพลงเปิด - ปิด ทุกตอนใช่มั้ยล่ะ (ควรเลือกค่ายแฟนซับที่ทำคาราโอเกะแบบมีคันจินะครับ ไม่ก็อนิเมะที่มีคันจิใส่มาให้เลย)
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยาย
ขออนุญาติแฟนซับที่นำมาใช้โดยไม่แจ้งนะครับ

การฟัง
          จนถึงตอนสอบ N4 ผมดูแต่อนิเมะซับไทยครับ ดังนั้นการสอบครั้งแรกของผมจึงเงิบอย่างบอกไม่ถูก อยากบอกว่าฟังแทบไม่รู้เรื่องเลยครับ อารมณ์แบบสอบเสร็จคิดว่าไม่ผ่านแน่นอน (แต่ก็ยังอุตส่าห์ผ่านมาได้ด้วยคะแนน 37/60 เกณท์การผ่านในพาร์ทคือ 19 )

          หลังจากรู้ว่าทักษะการฟังของตัวเองมันห่วยแค่ไหน ผมก็เริ่มดูอนิเมะแบบ ''ไม่มีซับ'' ครับ ซึ่งแน่นอนว่า เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วค่อยมาดูซับไทยอีกรอบ ซึ่งวิธีนี้เป็นการฝึกฟังครับ ไม่ต้องสนว่าจะแปลได้หรือไม่ อีกอย่างถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ เวลาฟังภาษาญี่ปุ่น มันจะเข้าใจด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมานั่งแปลในสมองอีกรอบ ยกเว้นประโยคที่มันยากจริงๆ

         หลังจากทำเช่นนี้ไปพักนึงก็เห็นผลครับ ผลพาร์ทฟัง N3 ผมได้ 45/60 คะแนน


จาก N4 สู่ N3
         ที่เขียนไว้ข้างบนจะเป็น จาก 0 จนถึงผ่าน N4 นะครับ จากจุดนี้จะเป็นการเรียนด้วยตัวเองเต็มๆ 100% ในช่วง 6 เดือนที่มหาลัยปิดเทอม  ก็อย่างที่ทราบกันว่าผมแปลมังงะลงเน็ตด้วย (ที่แปลก็อยู่ในเว็บนี้นี่ล่ะ) ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่จะประกาศผล N4 ประมาณ 1 อาทิตย์ และผมก็แปลเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ดังนั้นศัพท์กับคันจิ ผมก็ได้จากการแปลมาพอสมควร (รวมถึงการดำน้ำด้วย ฮ่าๆ) ตอนแปลช่วงแรกๆ เป็นอะไรที่ยากสุดๆ เลยครับ แต่ผมก็จะพยายามหาศัพท์กับคันจิที่ไม่รู้ ''โดยไม่ปล่อยผ่าน'' อยากบอกหลายๆ คนว่า ถ้าอยากเก่งให้ฝึกแปลอะไรก็ได้ครับ การอ่านแล้วเข้าใจ กับ การแปลเรียบเรียงเป็นอีกภาษา มันต่างกันมากนะ

        ระหว่างนั้นก็อย่างที่บอกไว้ด้านบน ผมฝึกฟังอนิเมะแบบไม่มีซับ อนิเมะตอนยาวแบบ Movie ที่ยาวเกือบ 2 ชม. ผมก็ดูมาแล้วครับ แล้วก็โหลด Raw (มังงะต้นฉบับที่เป็นภาษาญี่ปุ่น) ของ Shounen Jump (นิตยสารที่ลง วันพีซ บลีช นารูโตะ โทริโกะ ) มาอ่านเทียบกับของที่แปลไทยตามเน็ตอยู่เหมือนกัน (อันนี้ถือว่าผิดลิขสิทธ์น่ะครับ ถ้าเป็นได้อุดหนุนสำนักพิมพ์โดยการซื้อรวมเล่มแปลไทยดีกว่า)
  
        ส่วนเรื่องการเรียนพิเศษกับสถานบันต่างๆ ถ้าสงสัยว่าทำไมผมไม่คิดจะเรียน ก็เพราะมันสอนช้าไงครับ (ในกรณีที่ในห้องมีหลายๆคน) แถมยังแพงอีกด้วย ถ้าจะเรียนขอแนะนำให้เรียนแบบตัวต่อตัวดีกว่า เพราะมันสามารถปรับระดับความเร็วตามการรับรู้ของเราได้


สอบผ่าน N3 อ่านอะไรบ้าง?
  •    หนังสือชุดเตรียมสอบวัดระดับ N3 ทั้ง 5 เล่ม ได้แก่ ไวยากรณ์ การอ่าน การฟัง คำศัพท์ และคันจิ

     ถ้าเอาแค่ผ่าน อ่านแค่ 5 เล่มนี้ก็ผ่านแล้วครับ แต่......
     มันไม่เพียงพอสำหรับความรู้ระดับ N3 เลย คำศัพท์ ไวยากรณ์ คันจิ ในข้อสอบมีนอกเหนือ จากหนังสือชุดนี้อีกครับ และที่ยากที่สุดก็คือพาร์ทการอ่านนี่ล่ะ เพราะมันต้องแข่งกับเวลา




จาก N3 สู่ N 2 

      การสอบรอบนี้บอกตรงๆ เลยว่าผมอ่านหนังสือไม่พอครับ ที่มีแพลนไว้ว่าจะอ่าน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อ่านหลายเล่มเลย แถมยังมีเล่มที่อ่านไม่จบด้วย สาเหตุก็มาจากความขี้เกียจล้วนๆ

       เริ่มจากตอนสอบ N3  รอบเดือน 7/2014 หลังจากสอบจนถึงประกาศผลสอบ (ปลายเดือน 8 ) ก็ไม่ได้แตะหนังสือเลยครับ ซึ่งทำให้ตอนนั้นตัดสินใจไม่ลงสอบรอบเดือน 12/2014 เพราะคิดว่าไม่ผ่านแน่ๆ สุดท้ายผ่านไปครึ่งปี สรุปอ่านเล่มไวยากรณ์เล่มแดงจบไปเล่มเดียว T-T แล้วเพิ่งมาเริ่มอ่านจริงจังหลังจากสมัครสอบ รอบ 1/2015 ( สอบเดือน 7 เริ่มอ่านประมาณเดือน 3 )

         ตรงส่วนนี้จะแตกต่างกับของพาร์ทที่แล้วคือ ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาแล้วครับ (เพิ่มแรงบันดาลใจในการเรียนได้มากสุดๆ ใครมีโอกาสก็ลองไปดูนะครับ)


คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย


         มาเข้าเรื่องกันดีกว่าเริ่มจากหนังสือที่ใช้อ่านเพื่อสอบ N2 ทั้งหมด ได้แก่....
     




 เริ่มจากเล่มแรก


ไวยากรณ์ ระดับ 2
ไวยากรณ์เล่มนี้เป็นเล่มพื้นฐานสำหรับคนที่จะสอบ N2 เลยครับ เขียนอธิบายและยกตัวอย่างประโยคไว้ดีมาก





ชุดเตรียมสอบวัดระดับ N2 ของ สทศ. 
ในส่วน N2 ที่มีแบบแปลไทย มีทั้งหมด 3 เล่ม จาก 5 เล่ม ได้แก่ คันจิ คำศัพท์ และ การฟัง (เพิ่งรู้ว่ามีเล่มการฟังก็ตอนหารูปมาเขียนบทความนี้นี่แหละ เลยไม่ได้อ่าน - -)




Nihongo Soumatome N2 ไวยากรณ์และการอ่าน  
2 เล่มนี้เป็นอันเดียวกับชุดเตรียมสอบวัดระดับข้างบน แต่เป็นภาษาญี่ปุ่น (มีอธิบายเป็นภาษาอังกฤษด้วย) เล่มไวยากณ์แนะนำให้อ่านครับ เพราะมีบางอันที่ในเล่มแดงไม่มีด้วย และถือเป็นการทบทวนไวยากรณ์ไปในตัวและทำความเข้าใจเพิ่มจากคำอธิบายภาษาญี่ปุ่น ส่วนเล่มการอ่าน ผมอ่านไม่ทันครับ ดูไปอยู่แค่ 10 กว่าหน้า เลยทำให้คะแนนพาร์ทการอ่านเกือบตก ถ้ามีเวลาเหลือแนะนำให้อ่านไว้ดีกว่าครับ




เล่มนี้ก็อ่านไม่จบครับ เนื่องจากรู้สึกว่าอธิบายไม่ค่อยดีเท่าไหร่




500 รูปประโยคภาษาญี่ปุ่น
เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสอบ N3 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้อ่านเลย แต่คิดว่าจะอ่านให้จบอยู่





Goukaku dekiru nihongonouryokushiken N2 
เล่มนี้เป็นชุดรวมแบบฝึกหัดซึ่งแนะนำให้อ่านครับ มีข้อสอบจริง และ เฉลยอยู่เป็นการทดสอบตัวเองก่อนไปสอบได้ดีเลย




เล่มนี้โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ค่อยดีครับ มีทั้งพิมพ์ผิด ตรงแบบฝึกหัดก็มีข้อซ้ำ เหมือนก็อปมาแปะ การอธิบายก็ใช้ภาษาพูดปนภาษาเขียน แถมอธิบายงงๆ อีก


ปัจจุบัน (หลังผ่าน N2)

           ปัจจุบันถึงจะผ่าน N2 แล้วผมก็ยังรู้สึกว่ามีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ถ้าวัดตามระดับคนญี่ปุ่นก็ยังเป็นแค่ระดับคนทั่วไป ยังขาดความรู้เฉพาะทางอีกมาก แม้ตอนนี้จะพออ่านบทความหรือข่าวภาษาญี่ปุ่นได้ระดับนึง แต่ถ้าเจออะไรที่ซับซ้อนต้องอาศัยการตีความผมก็ยังไม่มั่นใจว่าตนเองเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อถูกต้องรึเปล่าเลย
           
           แต่ถ้านับแค่เรื่องงานอดิเรก ดูอนิเมะ อ่านมังงะ ฟังเพลงภาษาญี่ปุ่น ผมก็ถือว่าการเรียนภาษาของผมสำเร็จแล้วนะ อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นว่าผมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะงานอดิเรก

           ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ''จะขี้เกียจก็ได้แต่อย่าทิ้ง'' โดยเฉพาะคนที่เรียนวิชาเอกหรือโทเป็นภาษาญี่ปุ่น (ก็คุณตัดสินใจเรียนแล้วนี่นา) ถ้ายังไม่ถึงที่สุด จะยอมให้สิ่งที่ลงแรง ยอมเสียเวลาไปเสียเปล่ารึครับ?

            ถ้าอยากพักก็กำหนดเวลาให้ตัวเองเลยครับ สมมุติจะพักสัก 2 อาทิตย์ ใน 2 อาทิตย์ก็ไม่ต้องแตะหนังสือเลย ทำสิ่งที่อยากทำให้เต็มที่ แต่พอหมดเวลาพักแล้วก็ต้องอ่านจริงๆ นะ

สุดท้ายที่อยากบอกคือ

           ไม่ว่าอะไรเมื่อทำครั้งแรกมันก็ยากเสมอแหละครับ แต่ถ้าเราผ่านมันไปแล้วเจออะไรที่ยากกว่า พอย้อนกลับมาดูไอ้ที่เราเคยคิดว่ายากมันแสนจะง่ายเลยล่ะ
     





Katsukun
24/01/62


Ana Satsujin 27 [TH]



Facebook comments